“นักวิจัยถ้ำ” โลกมหัศจรรย์และชีวิต (มันๆ) ใต้พิภพ

รัตติกาลไร้ความหมายสำหรับสถานที่แห่งนี้…

ลึกไปในความแข็งแกร่งแห่งแผ่นผา ความมืดมิดปิดบังเส้นทางข้างหน้าจนยากแลเห็นแม้ฝ่ามือที่ยื่นห่างออกไปไม่ถึงฟุต ด้วยดวงตะวันไม่อาจชำแรกกายผ่านโพรงผาเข้าไปส่องสว่างความวิจิตรงดงามทางธรณีวิทยา ชีววิทยา และโบราณคดีที่อวลอุ่นมนต์เสน่ห์ภายในได้

การเลือกคืบคลานเข้าไปในความคับแคบของถ้ำจึงเป็นยิ่งกว่าบททดสอบขวัญกำลังใจของมนุษย์ผู้เคยคุ้นกับทิวากาลมากกว่า ทั้งๆ ที่ระหว่างการล่วงลึกเข้าไปในโลกมืด มิทันถึงปลายทางก็จะได้พบความลึกลับที่หากใครได้สัมผัสสักคราแล้วยากจะเลือนลืม

ทว่าน้อยคนนักจะหาญกล้าผจญภัยเพื่อได้ยลโฉมทรัพยากรถ้ำ หินงอก หินย้อย ผลึกแร่ ปะการังถ้ำ ไข่มุกถ้ำ โลงผีแมน และน้อยกว่านับนิ้วมือที่จะมีผู้เก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากการศึกษามรดกโลก และวัฒนธรรมเหล่านั้นออกมาให้สาธารณชนรับทราบ พร้อมนำไปต่อยอดเป็นภูมิคุ้มกันอันตรายจากกระแสการท่องเที่ยวทรัพยากรล้ำค่าทว่าเปราะบางของชาติ

ผจญภัยโลกมืดแคบ

ด้วยเป็นนักสำรวจวิจัยถ้ำคนไทยชุดแรกที่ดำเนินการยาวนานต่อเนื่อง แม้ก่อนหน้าจะมีนักวิชาการไทยสำรวจถ้ำมาบ้าง แต่ก็เพียงช่วงสั้นๆ ส่งผลให้การสำรวจวิจัยถ้ำของคณะนักวิจัยชุดนี้เข้าข่าย ‘Learning by doing’ อย่างแท้จริง เพราะต้องกลั่นกรองข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาแปรเปลี่ยนเป็นประสบการณ์การทำงาน เพื่อท้ายสุดจะมีชีวิตรอดจากการผจญภัยในโลกมืดมิดคับแคบ ควบคู่กับตกผลึกองค์ความรู้เรื่องถ้ำเมืองไทย

“ถ้ำที่เป็นอุปสรรคมากๆ จะอยู่บนหน้าผาสูงชัน บางถ้ำก็อยู่บนภูเขาดิน เวลาเดินแต่ละก้าวจะใช้พลังมากเพราะหนืดเหมือนเดินในโคลน แถมยังมีแมลงรำคาญตอมเนื้อตัวเต็มไปหมด จนต้องใช้หมวกมุ้งกัน ขณะที่น้ำไม่เป็นปัญหานักสำหรับถ้ำทางโบราณคดีที่ส่วนใหญ่เป็นถ้ำตาย น้ำไม่มี แต่อย่างถ้ำผาแดง บางช่วงของถ้ำน้ำสูงถึงระดับคอและต้องแช่กันนาน ทำให้คณะนักวิจัยเกิดตะคริว บางถ้ำต้องรีบมุดก่อนน้ำมา บางทีหน้าผาที่ยืนก็น่ากลัว”

ผศ.รัศมี ทรงชูเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัยโบราณคดีบนพื้นที่สูง ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถ่ายทอดประสบการณ์เสี่ยงและยากลำบากในการค้นหาข้อมูล อันเนื่องมาจากลักษณะเฉพาะของแต่ละถ้ำที่ดูภายนอกไม่อาจรู้ได้ว่าภายในซุกซ่อนอันตราย หรือขุมทรัพย์ทางโบราณคดีใดไว้ กว่าจะค้นพบข้อมูลแต่ละชิ้นนักวิจัยจึงต้องสวมกอดความไม่ประมาทและจิตวิญญาณกล้าหาญของนักสืบค้นในการแสวงหาข้อเท็จจริง

การเตรียมพร้อมก่อนสำรวจวิจัยถ้ำ นอกเหนือจากเครื่องมือทางโบราณคดี แผนที่ เข็มทิศ ไม้วัด ปากกา ดินสอ เกรียง กล้องถ่ายรูป สมุด ไฟ และแบตเตอรี่ของหมวกแบบมีไฟติด ที่แต่ละคนจะต้องแบ็กแพกเป็นเซตของตัวเองแล้ว กล้วย น้ำ ลูกอม และยาดมสำหรับพกติดตัว รวมถึงชุดพยาบาลเบื้องต้นยังไม่อาจหลงลืม เพราะการหลงป่าช่วงแรกของการสำรวจเป็นไปได้ง่ายดายมาก จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ชำนาญพื้นที่ไปด้วย

การสำรวจจะเริ่มจากดูแผนที่ทหารระดับ 1: 50,000 คู่กับภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อประเมินลักษณะพื้นที่บริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร ถนน แม่น้ำลำธารอยู่จุดใด อะไรคือแลนด์มาร์กของคนโบราณและปัจจุบัน เพราะการตั้งชุมชนจะต้องใกล้แหล่งน้ำ

“เมื่อเข้าไปในถ้ำ ทีมโบราณคดีจะแบ่งหน้าที่ถ่ายรูป ทำผัง สเก็ตช์ภาพ ทุกอย่างจะถูกบันทึกในแบบฟอร์มว่าอะไรอยู่ตรงไหน โดยปกติจะถ่ายรูปและเก็บไว้ที่เดิม ไม่เก็บเอาออกมา เว้นแต่สำคัญมากๆ ในการช่วยวิเคราะห์ต่อหรืออธิบายเพิ่มเติม หลังจากนั้นค่อยกลับมาประมวล ทำผังใหม่ลงกระดาษไข แล้วสแกนเข้าคอมพิวเตอร์” ผศ.รัศมีเผยขั้นตอนสลับซับซ้อน พลางสำทับว่ามาตรฐานเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจวิจัยทางโบราณคดีไม่น้อยหน้าต่างประเทศนัก แม้ในช่วงแรกของโครงการสำรวจและการจัดการฐานข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะยังไร้ GPS ช่วยอ่านพิกัดตำแหน่งก็ตามที

แต่ละครั้งทีมโบราณคดีจำเป็นต้องมี 5-10 คนเข้าไปในถ้ำพร้อมกันเพื่อจดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด กระนั้นบางครั้งยังใช้เวลานานถึงหนึ่งวัน อีกทั้งยังต้องกลับไปซ้ำในกรณีที่ข้อมูลขาด อย่างไรก็ตาม ช่วงปิดเทอมจะได้ผู้ช่วยนักวิจัยที่เป็นนักศึกษาโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และที่อื่นมาร่วมงานด้วย

“โครงการฯ พยายามฝึกให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วม เพราะปัจจุบันนักวิชาการไทยที่สำรวจถ้ำมีน้อยมากเนื่องจากความยากลำบากในการทำงาน รวมทั้งคนไทยทั่วไปจะกลัวความมืด ผี หรือสัตว์ร้ายภายในถ้ำ ถ้าไม่ใช่ถ้ำขนาดใหญ่ที่มีพระพุทธรูป มีไฟส่องสว่าง คนไทยจะไม่ชอบเที่ยว”

การลงพื้นที่เกือบทุกครั้งทีมนักโบราณคดีและธรณีวิทยาจะทำงานด้วยกัน อันเนื่องมาจากเนื้องานของทั้งคู่ต้องลงรายละเอียดมาก การเตรียมเครื่องมือและความพร้อมในการรับสถานการณ์ไม่คาดฝันของทั้งคู่จึงต้องถี่ถ้วนแม่นยำ กระนั้นในการโรยตัวปีนป่ายหน้าผาคราวหนึ่งก็ทำให้ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ นักธรณีวิทยาที่ร่วมวิจัยในโครงการฯ ต้องห้อยตัวในแนวนอน แทนที่จะเป็นแนวดิ่งนานกว่า 20 นาทีมาแล้ว เพียงแค่เขาคลายเชือกที่รัดตัวออกเล็กน้อยเนื่องจากทำงานไม่สะดวก

“เหตุการณ์นั้นทำให้ต่อมาปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด การแต่งกายรัดกุมขึ้น รวมถึงเตรียมอาหารสำรองไว้เผื่อหลงป่าด้วย ถึงแม้จะไม่หลงป่า แต่บางวันกว่าจะกลับถึงแคมป์ก็ดึกมาก เนื่องจากขาดเทคนิคความชำนาญเพราะเป็นมือใหม่ และการสำรวจถ้ำช่วงแรกก็ใช้เครื่องมือพื้นๆ การทำผังถ้ำจึงช้ามาก ขณะที่งานต้องการความละเอียดสูงถึงระดับมิลลิเมตร”

ยิ่งกว่านั้น ตลอด 2 ปีของโครงการฯ ชัยพรที่เปรียบนักธรณีวิทยาว่าเป็นนักสืบธรรมชาติผู้พยายามค้นหาคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงของโลกผ่านทรัพยากรถ้ำ ไม่ว่าจะเป็นชั้นหินหรือฟอสซิลที่โอกาสเจอภายนอกถ้ำมีน้อยมาก ก็สูญเสียกล้องไปแล้ว 3 ตัวระหว่างการสำรวจวิจัย กว่าจะได้สัมผัสมนต์เสน่ห์ลึกลับภายใต้แผ่นผาแข็งแกร่งครบ 46 ถ้ำ 1 เพิงผา