โต้ลม ห่มฟ้า แหงนหน้าดูดาวที่“ผาแต้ม”

หลังฤดูกาลผ่านวสันตฤดูเข้าสู่เหมันต์ จุดนัดพบแรกสำหรับฟากฟ้าหน้าหนาวของ“สมาคมดาราศาสตร์ไทย” กลุ่มคนผู้รักการดูดาวก็มาถึง ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี

สำหรับทริปนี้ ถือว่าผมมีเพื่อนพ้องคอเดียวกันร่วมทางไปด้วยมากมายทีเดียว และต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ“การดูดาวให้หนำใจ”

เมื่อมาถึงผาแต้ม หัวหน้าอุทยานฯ ได้บรรยายสรุปสถานที่ท่องเที่ยวและอบรมวิธีการดูดาวให้พอสังเขป โดยมี 2 วิทยากรสำคัญจากสมาคมฯ คือ “คุณอ๊อด” พรชัย รังษีธนะไพศาล และ “คุณเหน่ง” กวี สุขะตุงคะ เป็นผู้ให้ความรู้แก่เพื่อนๆ สมาชิกอย่างหมดไส้หมดพุง ไม่มีกั๊ก

ความรู้พื้นฐานเรื่องดวงดาวที่ได้นำมาพูดคุยกันก่อนเข้าสู่ภาคปฏิบัติ มีทั้งการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างดวงดาวกับการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิต การเกิดขึ้นและการดับสูญของดวงดาว การคาดเดาอายุของดาวฤกษ์จากสีที่ปรากฏ เริ่มจากดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่มีสีม่วง ไล่ไปจนถึงดาวฤกษ์ที่มีสีน้ำเงิน สีขาว สีเหลือง และสีแดงตามลำดับ ซึ่งดวงอาทิตย์ที่เป็นพี่ใหญ่ในระบบสุริยจักรวาลของเรา ขณะนี้ก็มีอายุอานามเข้าสู่ในวัยกลางคนแล้ว คือมีอายุประมาณ 5 พันล้านปี จึงมีสีออกสีเหลือง และหลังจากนี้จะยังคงมีอายุอีกประมาณ 5 พันล้านปีจึงจะสิ้นอายุขัย เมื่อถึงเวลานั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกก็จะต้องจบชีวิตลงด้วย ส่วนเราๆท่านๆคงลาลับกันไปนานแล้ว

นอกจากนั้นแล้ว วิทยากรทั้ง 2 ยังได้ให้ความรู้ต่อไปถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับจักรวาลและกาแล็กซีอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกตื่นเต้นและอยากดูดาวเร็วขึ้น อาทิ การบัญญัติคำไทยเพื่ออ้างถึงกาแล็กซีว่า “ดาราจักร” การใช้คำแขกมาเรียกวิถีวงโคจรของดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ของโลกว่า “รวิมรรค” และที่ขาดไม่ได้คือการสอนวิธีการอ่าน “แผนที่ฟ้าแบบหมุนสองหน้า” โดยแผนที่ฟ้านี้มีที่มาจากการค้นคว้า การคำนวณ และพัฒนาของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เพื่อใช้ในการดูดาวสำหรับฟากฟ้าประเทศไทย และเพื่อนบ้านประเทศใกล้เคียงที่อยู่ระหว่างละติจูด 15 องศาเหนือโดยเฉพาะ

สำหรับการดูดาวให้เป็นนั้น ก็จะต้องอาศัยทั้งเวลาและการฝึกฝน ลำพังการเรียนรู้จากการบรรยายเพียงชั่วโมงหรือสองชั่วโมงไม่อาจทำให้เข้าใจได้มากนัก แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนดูดาวจริงๆ ที่เมื่อทำบ่อยๆ เข้า ก็จะทำให้เราจดจำตำแหน่งดวงดาวบนแผนที่ฟ้าและดวงดาวบนฟ้าได้เองโดยอัตโนมัติ

และแล้วช่วงเวลาแห่งการรอคอยก็มาถึง หลังมื้อค่ำเสร็จสิ้น การดูดาวจากลานหน้าบ้านพักของอุทยานฯ ก็เริ่มขึ้น กาแล็กซีทางช้างเผือกเริ่มปรากฏตัวให้เราเห็นจางๆ เป็นธารน้ำนมสีขาว ทอดตัวยาวบนซีกฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือพาดผ่านมากลางท้องฟ้าและโค้งลงมาบรรจบที่ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรียกเสียงฮือฮาและความตื่นเต้นได้ชะงักนัก ต่อจากนั้นการดูดาวอย่างคึกคักของสมาชิกก็เริ่มขึ้น พร้อมๆ กับการบรรยายและสอนวิธีดูดาว พร้อมเล่าความเป็นมาและเทพนิยายดวงดาวเพิ่มอรรถรสประกอบการดูดาวเป็นระยะๆ โดยมี 2 วิทยากรเจ้าเก่าที่คอยตอบคำถามโน่นนี่ของนักดูดาวหน้าใหม่และหน้าเก่ากันแทบไม่ทัน

ตั้งแต่การใช้แสงเลเซอร์ความเข้มข้นสูงสีเขียว หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “บรรทัดชี้ฟ้า” มาส่องนำทางให้สมาชิกได้เห็นตำแหน่งของดาวเหนือในขั้วฟ้าเหนือ และดาวหลักๆ ที่มองเห็นได้ง่ายในช่วงหัวค่ำจนถึงกลางดึก จากกลางฟ้าไปทิศตะวันออกบ้างและทิศตะวันตกบ้าง อย่างกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย หรือที่คนไทยเรียกว่ากลุ่มดาวค้างคาว และกลุ่มดาวเซฟีอุสที่อยู่ขั้วฟ้าเหนือเยื้องไปทางทิศตะวันออก ถัดออกมาคือ กลุ่มดาวม้าบิน กลุ่มดาวแอนดรอเมดา กาแล็กซีแอนดรอเมดา หรือเอ็ม 32 กลุ่มดาวปลา และกลุ่มดาวแกะ ฯลฯ

ทว่า จุดที่น่าสนใจของฟากฟ้าและวัตถุบนท้องฟ้าคือ การที่ดวงดาวต่างๆ โคจรไปไม่หยุดนิ่ง ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มดาวกลุ่มเก่าๆ ก็จะเริ่มเลือนหายไปจากท้องฟ้าและเป็นเวลาเดียวกันกับที่กลุ่มดาวใหม่ๆ จะปรากฏตัวเหนือฟากฟ้าไม่ขาดสาย

ไม่เพียงเท่านั้น ไฮไลต์ของค่ำคืนนี้ยังมีการทอดกายลงนอนชื่นชมกับฝนดาวตกโอไลโอนิกส์จากกลุ่มดาวนายพราน ที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งฝนดาวตกกลุ่มนี้เกิดจากการที่ดาวหางฮัลเลย์มาเยือนโลกของเราเมื่อปี พ.ศ.2529 แล้วได้ทิ้งฝุ่นละอองของมันเป็นสายธารล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศ เมื่อโลกโคจรผ่าน ฝุ่นละอองเหล่านี้ก็จะถูกแรงดึงดูดของโลกดูดเข้ามาในชั้นบรรยากาศตกลงมาเป็นฝนดาวตก

ฝนดาวตกที่เราได้เห็นมีประมาณ 20-30 ดวง ทั้งที่เป็นลูกไฟสีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง และสีขาว ทั้งที่มีหางสั้นบ้างยาวบ้าง บางลูกทิ้งกลุ่มควันให้เห็นเมื่อพาดผ่าน บางลูกโพล่มาฟุ่บเดียวก็หายไป ขณะที่บางลูกพาดผ่านท้องฟ้าเป็นสายยาวแล้วระเบิดกลางฟ้าจนได้ยินเสียง

โดยทุกครั้งที่มีดาวตกพาดผ่าน คณะเดินทางทุกชีวิตก็ต่างส่งเสียงตื่นเต้นดีใจพร้อมชี้นิ้วให้เพื่อนๆ ได้ดูด้วย โดยไม่เกรงว่าจะทำให้ผู้มีบุญไปเกิดในท้องสุนัขอย่างที่คนโบราณเชื่อถือกัน ซึ่งคุณเหน่งบอกกับพวกเราอย่างชัดเจนว่า หากเราจะดูดาวแล้ว เราต้องแยกเรื่องของดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ออกจากกัน มิฉะนั้นคงจะวุ่นวายน่าดู ส่วนการเดินทางมาดูดาวครั้งนี้ต้องขอบอกว่าเป็นการมาดูดาวแบบดาราศาสตร์ที่เป็นแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ล้วนๆ

หลังจากดูดาวกันจนหนำใจแล้ว วันรุ่งขึ้นเราได้ตื่นมาชมพระอาทิตย์โผล่ขึ้นเหนือเหลี่ยมเทือกเขาพนมดงรัก ที่ทอประกายระยิบระยับบนผิวน้ำโขงที่เป็นพรมแดนธรรมชาติ กั้นกลางระหว่างบ้านพี่เมืองน้อง อย่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จากนั้นก็เดินทางไปชมภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์หนึ่งในไฮไลท์สำคัญผาแต้มที่คาดว่าจะมีอายุประมาณ 3-4 พันปี ทั้งที่เป็นรูปมนุษย์ ม้า ช้าง ปลาบึก ข้าวของเครื่องใช้ สัญลักษณ์ และรอยประทับฝ่ามือแดงอันลือชื่อ ฯลฯ ที่มีจำนวนกว่าหลายร้อยภาพ

และยังรวมถึงเสาเฉลียงรูปดอกเห็ดที่อยู่ไม่ไกลกันนัก โดยเป็นเสาหินทรายที่เกิดขึ้นใน 2 ยุคสมัย คือ ส่วนของก้านเห็ดเป็นหินยุคจูราสสิค อายุราว 180 ล้านปี และส่วนที่เป็นดอกเห็ด เป็นหินในยุคครีเตเซียสอายุราว 130 ล้านปี

ต่อด้วย “น้ำตกลงรู” หรือ “น้ำตกแสงจันทร์” ที่สวยงามและโด่งดัง ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้บรรจุน้ำตกลงรูแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ เนื่องจากลักษณะอันแสนพิเศษของน้ำตกแห่งนี้ เมื่อสายน้ำตกจากผาลงมาแล้วจะไหลหายลับลงไปในรูบนซอกหิน

น้ำตกลงรู เป็นน้ำตกที่ตกลงไปในรูจริงๆ และก็ไม่ใช่รูเล็กๆ เสียด้วย เป็นรู้ใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มขนาดคนทั้งคนยังตกลงไปในรูได้เลยทีเดียว เสียงซู่ซ่าของน้ำที่ไหลผ่านรู กับภาพบรรยากาศที่อุดมด้วยแมกไม้ดูร่มรื่นและเย็นสบายตา ส่วนรูบนลานหินทรายนี้ ถือว่านี่คือหนึ่งในความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างลงตัว ซึ่งก็ทำให้น้ำตกลงรูแห่งนี้เป็นน้ำตกที่ไม่เหมือนใคร ดูมีเสน่ห์ดึงดูดใจได้อย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้วที่อุทยานผาแต้ม ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ ก็สวยงามด้วยดอกไม้แรกแย้มนานาชนิดที่บานสะพรั่งเต็มพลาญหิน (ลานหิน) ที่ภูผาแห่งนี้ก็จัดเป็นพวกดอกไม้ป่า ดอกเล็ก ดอกน้อย ที่ในแต่ละปีพอลมหนาวพัดผ่านมา ดอกไม้เหล่านั้นก็จะค่อยๆ ผลิดอก แย้มกลีบ นับแสนๆดอก ออกมาเริงระบำทักทายลมหนาว

ในพื้นที่บริเวณนั้นดารดาษไปด้วยมวลหมู่ของ “ดอกสร้อยสุวรรณา” สีเหลืองสด แทรกด้วย “ดอกดุสิตา” สีม่วงเข้ม และแซมด้วย “ดอกกระดุมเงิน” สีขาวเนียน ที่แม้ว่าดอกไม้เหล่านั้นจะต่างชนิดกันแต่ว่าก็ขึ้นอยู่ผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนสวยงาม และยิ่งได้ฉากหลังที่เป็นป่าเต็งรังอันเขียวสด ยิ่งช่วยขับให้ทุ่งดอกไม้ที่มีอยู่หลายในบริเวณนั้นน่าเดินเที่ยวขึ้นไปอีก

สำหรับหนาวนี้ใครที่อยากเที่ยวแบบหลากหลายอารมณ์ทั้งห่มฟ้า ชมดาว เพริศพริ้งแพรวพราวกับธรรมธาติ น้ำตก มวลหมู่ดอกไม้ และภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติผาแต้มมีความประทับใจเหล่านี้รอคอยอยู่

…นอกจากนี้ใครที่เห็นดาวตก หากอธิษฐานทัน บางทีอาจได้รับความสมมารถปรารถนาพกพากลับมาจากผาแต้มด้วยก็เป็นได้…